40 ความแตกต่างระหว่าง “คันโต” กับ “คันไซ” ที่ควรรู้!! – phumthai
02-011-9250
064-717-9497
062-659-9247
095-919-4761
วันจันทร์ - ศุกร์ 08.30 - 17.30 น.
วันเสาร์ 09.00 - 16.00 น.

40 ความแตกต่างระหว่าง “คันโต” กับ “คันไซ” ที่ควรรู้!!

กุมภาพันธ์ 22, 2019 | by phumthai
ก่อนที่เราจะไปพูดถึงความแตกต่างของทั้งคันโตและคันไซ เรามารู้จักกันก่อนว่าทั้ง “คันโต” และ “คันไซ” คืออะไร?
 
ทั้ง “คันโต” และ “คันไซ” ก็คือชื่อภูมิภาค ถ้าจะเอาให้ง่ายกว่านั้นน่าจะคล้ายๆ “ภาค” ของไทยเรา… และสามารถจำได้ง่ายๆว่าคันโตนั้นมีโตเกียว ส่วนคันไซนั้นมีเกียวโต!!! ทีนี้เรามาดูกันเลยว่าทั้ง”คันโต” และ “คันไซ” ต่างกันอย่างไร??
 
 
 
1. ความแน่นของก้อนข้าวซูชิ ทางคันไซนั้นจะอัดแน่นกว่าของทางคันโต
 
2. ชื่อเรียกซาลาเปาไส้หมูสับ ทางคันโตจะเรียกว่า Nikuman (肉まん) แต่คันไซจะเรียก Butaman (豚まん) ที่มาก็คือ ร้านอาหารจีนชื่อโฮไรที่มีสาขาทั่วคันไซเค้าเรียกว่า Butaman คนแถบนั้นก็เลยติดมา???
 
3. รสชาติของไข่ม้วน ของคันโตจะมีรสออกหวาน ส่วนคันไซจะเป็นรสซุปดาชิ นี่ก็เป็นหัวข้อทะเลาะยอดฮิตของสามีภรรยาที่คนหนึ่งมาจากคันโตและอีกคนมาจากคันไซ เนื่องจากฝ่ายภรรยาจะทำรสชาติบ้านเกิดตนเอง
 
4. การเรียกชื่อซุปถั่วแดง ฝั่งคันโตเรียกว่า Shiruko (しるこ) แต่คันไซจะเรียกว่า ZenZai (ぜんざい)
 
5. รูปร่างโมจิในอาหาร ทางคันโตจะปั้นเป็นแบบเหลี่ยม ส่วนคันไซจะปั้นเป็นลูกกลมๆ และแน่นอนรวมถึงโมจิที่นิยมกินกันในช่วงปีใหม่ด้วย
 
6. การซื้อของ สำหรับคนคันไซจะคิดว่าการต่อราคาเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภค แต่ทางคันโตไม่คิดเช่นนั้นและส่วนมากก็ไม่ชอบพฤติกรรมการต่อราคาของคนคันไซด้วย!!
 
7. การขึ้นบันไดเลื่อน คันโตจะยืนชิดซ้าย คันไซจะยืนชิดขวา และเหลืออีกเลนให้ผู้ที่เร่งรีบได้ไต่ขึ้นหรือลงไปก่อน
 
 
8. คำเรียกคนในบ้าน คนคันไซมักจะเรียกภรรยาตนเองว่าโยเมะ (うちの嫁) ส่วนคันโตเรียกโอคามิซัง (うちのおかみさん) ยิ่งไปกว่านั้นคนคันไซเรียกแม่ว่าโอกัง ส่วนคันโตเรียกว่าโอฟุคุโระ
 
9. การใช้ซอส ว่ากันว่าคนคันไซติดซอสเป็นอย่างมาก ถ้าเปิดเข้าไปในครัวจะต้องเจอซอสต่างๆถึง 20 ขวดและซอสที่ขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตก็จะมีเยอะกว่าแถบคันโต แต่..คนคันโตส่วนมากจะรู้จักแต่ซอสยี่ห้อบลูด็อก ซึ่งแทบไม่เห็นในแถบคันไซเลย..
 
10. วิธีการใช้คำว่าตัวเอง (自分) คนคันโตจะพูดคำว่าจิบุนในความหมายถึงตัวเอง แต่…คนคันไซจะพูดคำว่าจิบุนซึ่งหมายถึงฝ่ายตรงข้ามอย่างเมิงงงๆๆๆซะมากกว่า แหมม..แล้วจะคุยกันรู้เรื่องมั๊ยนี่?
 
11. ต้นหอม ถ้าพูดถึงต้นหอมคนคันโตจะนึกถึงต้นหอมญี่ปุ่นดุ้นใหญ่ๆ ผิดกับคนคันไซที่นึกถึงต้นหอมต้นเล็กๆขายเป็นกำแบบบ้านเรา
 
12. การส่งของเยี่ยมเยียนในฤดูร้อนที่เรียกว่าโอชูเก็น (お中元) ไม่ใช่ว่าร้อนปุ๊บส่งปั๊บนะ ทางคันโตมีวันกำหนดหมดเขตส่งคือ 15 กรกฎาคม แต่คันไซยืดไปถึงโอบ้ง 15 สิงหาคมโน่นเลย ห้ามส่งพลาดเด็ดขาด
 
13. ถังน้ำมัน ถังใส่น้ำมันก๊าซที่ไว้ใช้เติมเครื่องทำความอุ่นในฤดูหนาว คันโตจะเป็นถังสีแดงวางขายเกลื่อน แต่คันไซนิยมสีน้ำเงิน
 
14. น้ำผลไม้รวมหรือ Mixed Juice ทางฝั่งคันไซจะใช้แต่ผลไม้เพียวๆ แต่…ทางคันโตจะใส่ผัก ใส่โน่นใส่นี่ใส่แม่มซะทุกอย่างลงไปปั่นรวมกันทั้งหมด
 
15. อินาริซูชิ ทางคันโตจะมีรูปร่างเป็นก้อนเล็กพอดีคำรสชาติเป็นไปทางเดียวกัน ส่วนคันไซจะมีการเปลี่ยนข้าวด้านในสารพัดแบบตามใจฉัน ส่วนรูปร่างก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง คนคันโตมาเห็นก็ตกใจว่ามันไม่ได้เรียกว่าอินาริซูชิแล้วแบบนั้น
 
 
16. คำว่า “ไอ้บ้า” คนคันไซจะใช้คำว่าอะโฮะ (アホ) เชิงด่าเล่นๆ เช่น แกบ้าป่าวเนี่ย แต่จะรู้สึกว่าถูกด่าจริงจังถ้าโดนด่าว่าบากะ ในทางกลับกันคนคันโตจะใช้บากะ (バカ) ในเชิงด่าเล่นๆและจะโกรธเมื่อโดนด่าว่าอะโฮะ!!!
 
17. การแร่ปลา คันโตจะแร่เปิดหลัง ส่วนคันไซจะแร่เปิดตรงท้อง หากแม่สามีอยู่คนละฝั่งกับเราก็ควรจะแอบๆแร่ ไม่เช่นนั้นจะได้แร่เนื้อกันเองแน่ๆ
 
18. รถประจำทาง แถบคันโตจะเป็นรถประจำทางแบบขึ้นประตูหน้าแล้วจ่ายเงินและลงประตูหลัง ส่วนคันไซจะขึ้นทางประตูหลังและรับตั๋วจากเครื่อง เวลาลงก็ลงประตูหน้าพร้อมจ่ายเงิน
 
19. ความล้ำค่าของทาโกยากิ ถ้าอยู่คันโตมันจะเป็นแค่อาหารที่กระจอกงอกง่อยมากๆ แต่มันจะไปเป็นอาหารเมนหลักที่คันไซซึ่งสามารถกินแทนข้าวได้เลยทีเดียว
 
20. คิทซึเนะอุด้ง ถ้าไปดูแถบคันไซจะเป็นอุด้งที่มีเต้าหูแผ่นๆแปะอยู่ และถ้าเอาไปแปะที่โซบะจะเรียกทานุกิโซบะ ในทางกลับกันที่คันโตคิทซึเนะอุด้งจะเอาแผ่นเต้าหู้ทอดมาแปะ ส่วนทานุกิโซบะจะแปะด้วยเทนคาสุ หรือเม็ดแป้งทอด..
 
21. โต๊ะหมู่ ทางคันโตนิยมสีเรียบๆแบบธรรมชาติเป็นไม้หมด แต่คันไซนิยมนำไปทาสีให้ข้างในเป็นสีทองอร่าม
 
22. ฮินะอาราเร เป็นขนมเม็ดเล็กๆใช้ในเทศกาลฉลองวันเด็กผู้หญิง ของคันโตจะมีสีชมพู เหลือง และขาว ส่วนของคันไซจะนำเซมเบ้เข้ามาปนอยู่ด้วย ดูคล้ายกับแกล้มเหล้ามากกว่า…
 
 
23. การเรียกชื่อแมคโดนัลด์ คันไซเรียก “มะคุโดะ” ส่วนคันโตเรียกว่า “มะคุ”
 
24. การกำจัดขยะ คนคันโตนิยมนำไปกำจัดที่เกาะแห่งความฝัน  เป็นเกาะที่ไว้สำหรับจัดการกับขยะโดยเฉพาะ แต่คันไซจะส่งเข้าโรงงานกำจัดหน้าตาประหลาด
 
25. พาดหัวหนังสือพิมพ์ ทั้งๆที่เป็นหนังสือพิมพ์กีฬาจากบริษัทเดียวกันออกวันเดียวกัน ทางคันโตจะพาดหัวข่าวเกี่ยวกับเรื่องก็อซซิบส่วนตัวของนักกีฬามากกว่า แต่ทางคันไซจะพาดหัวเกี่ยวกับผลกีฬา
 
26. เสื่อทาทามิ ขนาดเสื่อของทางคันไซนั้น (ใช้มาตั้งแต่สมัยเฮอัน) จะมีขนาดใหญ่กว่าของทางคันโต (ใช้มาตั้งแต่สมัยเอโดะ) ขนาด 6 เสื่อของคันโตเมื่อเทียบกับ 6 เสื่อของคันไซแล้ว ขนาดต่างกันแทบจะถึง  1 เสื่อเลย
 
27. แพ็คขนมปัง ขนมปังแผ่นที่ญี่ปุ่นจะมีขนาดใหญ่กว่าบ้านเราถึงสองเท่าตัว ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถเลือกความหนาได้หลากหลายอีกด้วย ใน 1 ก้อน ทางคันโตมักจะตัดเป็น 6-8 แผ่นแล้วแพ็ค ส่วนคันไซจะตัดแค่ 4-6 แผ่นเท่านั้น.. แปลว่าคนคันไซชอบกินแบบหนาๆอ่ะสิ
28. ซากุระโมจิ ของคันโตนั้นจะใช้แป้งเครปละเอียดไส้เป็นถั่วแดงและพันรอบนอกด้วยใบซากุระ ส่วนคันไซจะใช้แป้งหยาบเป็นเม็ดๆแบบข้าวเหนียวเลย
 
 
29. สีของโอฮากิ โอฮากิ (御萩) เป็นขนมอย่างหนึ่งที่มักจะมาเป็นเซต 3 ก้อน ซึ่งทางคันโตจะจัดโดยใช้ Kinako (黄な粉) หรือขนมถั่วเหลือง Shiruko (汁粉) หรือขนมถั่วแดง และ Kurogoma (黒ごま) ขนมงาดำ แต่…ทางคันไซจะเปลี่ยนเอา Kurogoma ออกและแทนด้วย Aonori (青のり) ขนมสาหร่าย ซึ่งคนคันโตมาเห็นก็จะตกใจว่าไอ้ก้อนเขียวๆนี่คืออะไรหว่า??
 
30. ทิชชูในห้องน้ำ ทางคันโตนิยมแบบดับเบิล ส่วนทางคันไซนิยมแบบซิงเกิล (ดับเบิลคือมันจะแยกเป็น 2 แผ่นบางๆได้ ส่วนซิงเกิลคือมีแผ่นบางๆแผ่นเดียว) ส่วนมากราคาขายจะเท่าๆกัน แต่แบบซิงเกิลจะยาวกว่าแบบดับเบิลอยู่หลายสิบเมตรเลย
 
31. นามสกุลโหล ถ้าพูดถึงนามสกุลที่คนคันโตใช้เยอะที่สุดคือ ซูซูกิ (ทานากะมาเป็นอันดับ 4) แต่…แถบคันไซคือทานากะ (ซูซูกิไม่ติด 10 อันดับเลย)
 
32. ที่จอดรถ นอกจาก Chushajo (駐車場) แล้ว แถบคันไซจะเรียกชื่อเฉพาะของที่จอดรถว่ามอร์เตอร์พูล (モータープール) ถ้าใช้คำนี้ไปถามคนคันโต ก็อาจจะนึกถึงสระว่ายน้ำไปเลย
 
33. ร้านสะดวกซื้อ คนคันโตนิยมเข้า 7-11 แต่คนคันไซนิยมเข้า Lawson มากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งคันโตและคันไซก็ต่างมี 7-11 กับ Lawson ด้วยกันทั้งสิ้น แต่เมนูภายในร้านระหว่างสองพื้นที่จะแตกต่างกันเล็กน้อย
 
34. ซึกิมิดังโงะ ในแถบคันโตนิยมใช้แป้งขาวๆปั้นเป็นลูกกลมๆล้วนๆเลย ส่วนคันไซนั้นจะนำถั่วแดงมาคาดทับดังโงะขาวๆอีกทีหนึ่ง
 
35. แท็กซี่ คนคันไซจะมีความรู้สึกว่าแท็กซี่จะมีเฉพาะสีดำ แต่แถบคันโตนั่นมีสีอื่นๆเช่น ส้ม หรือเหลืองแซมอยู่ด้วย ส่วนราคานั้นของคันไซเริ่มต้นที่ 500 เยน ส่วนคันโตเริ่มที่ 710 เยน
 
36. การกินนัตโต ความนิยมในการกินนัตโตนั้นจะแพร่หลายในแถบคันโตเสียมากกว่า เพราะคนคันไซนั้นไม่กินนัตโตกันเลย เนื่องจากนัตโตนั้นมีทั้งกลิ่นและรสชาติที่ไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่
 
37. การจัดวางตุ๊กตาเทศกาลฮินะ เมื่อหันหน้าเข้าหิ้งวาง คนคันโตจะวางเจ้าชายไว้ด้านซ้ายเจ้าหญิงไว้ด้านขวา ส่วนของคันไซจะตรงกันข้าม
 
38. ซุปอุด้ง ฝั่งคันโตจะเข้มข้นกว่า ส่วนคนคันไซจะชอบกินแบบรสอ่อนๆ ถึงขนาดที่ว่าอุด้งสำเร็จรูปที่ขายแบบถ้วยเติมน้ำกินได้ทันทีนั้น ยังผลิตออกมาเป็น 2 แบบเลย คือแบ่งกลางระหว่างจังหวัดกิฟุซีกตะวันออกเป็นต้นไปก็ขายแบบรสเข้ม ส่วนอีกซีกหนึ่งก็ขายแต่รสอ่อน…
 
39. ซุปมิโซะ ก็เหมือนกับซุปอุด้งคือคนคันไซจะชอบรสอ่อน ส่วนคันโตก็สไตล์เดิมคือชอบรสเข้มๆ
 
40. โชยุ อาจจะมีขายเหมือนๆกันแต่….. ทางคันไซนั้นโชยุรสชาติอ่อนจะขายดีกว่า เนื่องจากคนคันไซชอบอาหารรสอ่อนๆ แต่ทว่าโชยุรสอ่อนนั้นกลับมีปริมาณเกลือมากกว่า เพราะว่าทางผู้ผลิตต้องผสมมิรินเพิ่มเข้าไปมากขึ้นนั่นเอง มันไม่ได้ดีต่อสุขภาพอย่างที่คิดเลยนะ
 
 
นอกจากนี้เรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างคำอ่านของชื่อสถานที่ที่เขียนเหมือนกันเป๊ะ แต่อ่านต่างกันก็มีเช่น คันโตอ่านว่านิฮงบาชิ แต่คันไซอ่านว่านิปปงบาชิ… เรื่องพวกนี้ควรจะศึกษาเอาไว้ จะได้ไม่ปฏิบัติผิดธรรมเนียมเวลาไปเที่ยวบ้านเมืองเค้า
mascot
จองผ่านไลน์
ติดต่อข่าวสารโปรโมชั่นทัวร์